Background



ข่าวประชาสัมพันธ์
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day)
1 ธันวาคม 2561

291


“กรมควบคุมโรค” เผย1 ธันวาคมเป็น “วันเอดส์โลก” ระบุสถาการณ์ของเอชไอวีในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงมาก พร้อมเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่ ขณะเดียวกันสนับสนุนตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ

น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.1 ล้านคน สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่เริ่มมีโรคเอดส์เกิดขึ้นในประเทศตามรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ.2527 ซึ่งช่วงแรกจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาการระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงมากจากในอดีต จากปีละกว่า 20,000 รายเหลือเพียงปีละไม่ถึง 7,000 ราย และในปี 2559 จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,304 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 426,999 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เสียชีวิต 16,122 คน

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก เป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ สนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ อันเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ให้ลดน้อยลงได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 มุ่งที่จะหยุดยั้งการระบาดของเอชไอวีไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี พ.ศ.2573 โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย 3.ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงร้อยละ 90 พร้อมเร่งผลักดันและส่งเสริมให้หน่วยงานทุกระดับดำเนินการตามมาตรการสำคัญ คือ 1.ส่งเสริมให้ประชาชนรู้สถานะการติดเชื้อและรับการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยการใช้ยาต้านไวรัส PrEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการถุงยางอนามัย และส่งเสริมภาพลักษณ์ถุงยางอนามัยอย่างต่อเนื่อง

3.พัฒนาคุณภาพบริการการดูแลรักษาการติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ขยายความครอบคลุมทั่วประเทศ 4.ดำเนินงานส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ตั้งเป้าในปี 2560 หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินงานไม่น้อยกว่า 120 หน่วยงาน และ 5.รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี/และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในวันสำคัญต่างๆ เพื่อนำสู่การป้องกันโรคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่ดี ไม่มีการรังเกียจและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

น.พ.เจษฎา กล่าวต่อว่า Key Message สำคัญสำหรับ “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) ในปีนี้ คือ “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดบริการและเตรียมมาตรการรองรับกิจกรรมรณรงค์ในปีนี้ โดยขอความร่วมมือให้หน่วยบริการสุขภาพและโรงพยาบาลทั่วประเทศ จัดบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบทราบผลการตรวจในวันเดียว (Same day result) ภายใน 1-2 ชั่วโมง ซึ่งผู้ที่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลักทุกคนสามารถรับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ฟรี ปีละ 2 ครั้ง (โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ใช้เข็มและกระบอกฉีดยาร่วมกัน) และรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ฟรีตามสิทธิ์ และส่งเสริมให้มีการใช้ยาเพร็พ (PrEP) เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมทั้งให้โอกาสผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีรับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขอรับการยินยอมจากผู้ปกครอง

ทั้งนี้เพื่อให้การรณรงค์ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ (Normalize HIV Testing) ประชาชนทุกกลุ่มเข้าใจความสำคัญของการรู้สถานการณ์ติดเชื้อของตน เข้ารับการตรวจด้วยความสบายใจ มั่นใจในระบบบริการ รู้สึกว่าการร่วมใจกันตรวจเป็นเรื่องของความรักความห่วงใยที่มีต่อคู่ ต่อครอบครัว และต่อคนที่เรารัก มีความเชื่อ ความเข้าใจว่า “การตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว” จะสามารถนำไปสู่การลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิต และลดการตีตราในสังคมได้ สามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ตามที่มุ่งหวังไว้ร่วมกัน